วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สารบีพีเอ มหันตภัยร้ายในขวดนมลูกน้อย


ปัจจุบัน ปรากฏมีข่าวเพิ่มมากขึ้นในสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับสารบิสฟีนอล-เอ  (Bisphenol-A)  หรือ  เรียกย่อๆว่า บีพีเอ (BPA)    ที่มีการระบุว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในเด็กเล็กและทารก  ความเสี่ยงที่มีการกล่าวถึงมีหลายประการ ได้แก่ ความเบี่ยงเบนทางเพศ ความเปลี่ยนแปลงทางการเจริญพันธ์ที่เร็วขึ้น เช่น มีประจำเดือนเร็วขึ้น มีผลกระทบต่อการพัฒนาการทางสมอง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน เป็นต้น การที่เด็กเล็กและทารก มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเนื่องจากการขับถ่ายสารบีพีเอที่อยู่ในร่างกายของเด็กเล็กและทารกเป็นไปช้ากว่า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเชิงป้องกัน
อันตราย จาก สารบีพีเอ ในขวดนมทารก
ในต่างประเทศ สหภาพยุโรป ได้มีการประกาศห้ามใช้สารบีพีเอในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเด็ก เริ่มต้นก่อนและมีผลบังคับใช้แล้วในปีนี้ ประเทศต่างๆ ได้ดำเนินมาตรการเชิงบังคับเช่นเดียวกัน ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ในรัฐต่างๆ รวม 9 รัฐ สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรส และ ล่าสุด ประเทศจีน และประเทศมาเลเซีย ได้มีประกาศการห้ามใช้สารบีพีเอ ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเด็ก เป็นลำดับต่อมา
ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2553  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้เริ่มประกาศเตือนประชาชนในปีที่แล้วในเรื่องที่เกี่ยวกับความเสี่ยงของสารบีพีเอในชวดนมเด็ก  ทั้งนี้ พญ.นัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า สารบีพีเอ ซึ่งใช้ในการผลิตพลาสติกชนิดแข็งใสที่เรียกว่า โพลีคาร์บอเนตเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตขวดนมสำหรับเด็ก เมื่อถูกความร้อนจากการต้มขวดนมจะทำให้สารบีพีเอ ละลายออกมาปนเปื้อนในอาหาร ทั้งนี้เห็นว่า ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารบีพีเอที่มุ่งใช้กับเด็กและทารก
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า อย.คงไม่ประกาศห้ามใช้ หรือควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารบีพีเอ เนื่องจากอันตรายจากการปนเปื้อนสารดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ อีกทั้งในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาบังคับใช้กับประชาชนของประเทศ
สหภาพองค์กรผู้บริโภค (Consumer Union) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานผู้บริโภค (Consumer Report) ได้ประกาศที่จะผลักดันกฎหมายยกเลิกการใช้สารบีพีเอในภาชนะบรรจุอาหารสำหรับทารก ทั้งนี้มีการเรียกร้องผู้ผลิตให้แสวงหาแนวทางการผลิตที่ปลอดภัยกว่าสำหรับเด็กและทารก รวมทั้งชื่นชมภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มีการผลิตภาชนะบรรจุอาหารสำหรับทารกที่ไร้สารบีพีเอ
โดยที่ผู้บริโภคมีหน้าที่เรียกร้องสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย (Right to safety) องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นตัวแทนในระดับต่างๆ จึงควรให้ความสนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็กและทารก ซึ่งไม่สามารถปกป้องตนเองได้ องค์กรผู้บริโภคซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจึงควรจัดการความรู้ทางวิชาการ ทำการศึกษาให้ชัดเจนถึงความเสี่ยงต่อเด็กและทารกจากสารบีพีเอที่มีการกล่าวถึง และหากมีความชัดเจน จำเป็นต้องมีการสื่อสารสู่สาธารณชน และผลักดันให้เกิดมาตรการบังคับที่ทัดเทียมกับมาตรฐานในระดับสากล



ที่มา : แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดย รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์
ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น