วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต


เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต
     รศ.พญ.ศศิจิต  เวชแพศย์
ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คำว่าโลหิตอาจ ฟังดูน่าหวาดเสียวและน่ากลัวสำหรับคนบางคน แต่สำหรับโรงพยาบาลแล้ว โลหิตเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งการรักษาหลาย ๆ อย่างในปัจจุบันนี้ จะไม่สามารถทำได้หากไม่มี

โลหิตมีความสำคัญอย่างไร
            ใน ร่างกายคนเรามีเลือดไหลเวียนอยู่ในตัว เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงอาหาร น้ำ ออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำสารพิษ ของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปกำจัดออกจากร่างกายเพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ในเลือดมีทั้งของเหลว(ส่วนน้ำ)และเซลล์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ต่างกัน กล่าวคือ
             เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เนื้อเยื่อออกไปขับถ่าย เม็ดเลือดแดงมีปริมาณประมาณร้อยละ40–45 ของเลือดทั้งหมด และมีอายุเพียง 120 วัน
            เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันเหมือนทหารปกป้องเชื้อโรคในร่างกาย มีปริมาณประมาณ 1% ของเลือด
             เกร็ดเลือด ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาดเล็ก มีอยู่ประมาณ 5% ของเลือด 
           พลาสมา เป็นสารน้ำสีเหลือง มีโปรตีน เกลือแร่ ไขมัน ฮอร์โมน ไวตามิน มีปริมาณร้อยละ 55 ของเลือด

ประเภทของหมู่โลหิต (กรุ๊ปเลือด)
     โลหิตที่อยู่ในคนไทยเรา แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
          1.หมู่โอ  พบร้อยละ  38             
          2.หมู่เอ  พบร้อยละ  21 
          3.หมู่บี   พบร้อยละ  34  
          4.หมู่เอบี  พบร้อยละ  7 
     นอกจากนี้ในหมู่เลือด เอ,บี,โอ แต่ละชนิดจะพบว่าประมาณ 1 ถึง 3 คน ในจำนวนประชากร 1,000 คน จะมีหมู่เลือดอาร์เอ็ชลบ ซึ่งเป็นหมู่โลหิตที่หายากหรือหมู่โลหิตพิเศษ เท่าที่พบมา เราพบว่าหมู่โลหิตโอเป็นหมู่โลหิตที่หาง่าย เมื่อเทียบกับหมู่โลหิตประเภทอื่นที่บริจาคกันเข้ามา สำหรับผู้ที่ไม่เคยบริจาคโลหิตมาก่อน แต่อยากช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ยากเลยค่ะ

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต
     • เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
     • อายุ 18 – 60 ปี
     • น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
     • ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ฮอร์โมนเพศ
     • ไม่มีประวัติเป็นโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี
     • ไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด ไม่มีบาดแผลสดหรือแผลติดเชื้อใด ๆ ตามร่างกาย
     • ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร 

ใครบ้างที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
     • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง ลมชัก โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก
     • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือคู่ครอง(สามีหรือภรรยา)เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอสไอวีหรือซิฟิลิส
     • ผู้เสพยาเสพติดชนิดใช้เข็มฉีดยา
     • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย
     • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต
     การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต เพื่อมิให้ผู้บริจาคโลหิตอ่อนเพลียมากหลังบริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตจึงควรเตรียมตัวดังนี้
     • ก่อนบริจาคโลหิต 1–2 วัน ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนดี
     • งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
     • ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน
     • รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิตประมาณ 4 ชั่วโมง
     • นอนหลับพักผ่อนเพียงพอประมาณ 6 ชั่วโมง

     ซึ่งแต่ละครั้งโรงพยาบาลต้องการโลหิตประมาณ 350–450 ซี ซี /คน ซึ่งปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่ปลอดภัย โลหิตที่ได้จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบก่อนนำไปให้ผู้ป่วยคือ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และตรวจหาไวรัสเอดส์

รับประทานอะไรหลังบริจาคโลหิต
     • หลังการบริจาคโลหิตเสร็จแล้ว ควรนั่งพักประมาณ 10-15 นาที รับประทานขนมหรืออาหารว่าง ดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม 1-2 แก้ว แล้วรับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ตับ ไข่ เลือดหมู เลือดไก่ ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง
     • งดสูบบุหรี่หลังบริจาคโลหิตอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และถ้าจะดื่มผู้บริจาคโลหิตควรรับประทานอาหารให้มากพอก่อนดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์
 
      เห็นไหมคะว่า หากมีการเตรียมพร้อมก่อนมาบริจาคโลหิตก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เมื่อคุณ
บริจาคโลหิตไปแล้วเท่ากับคุณได้กระตุ้นร่างกายให้สร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่(เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน)มีผลให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น สำหรับผู้หญิงสามารถบริจาคได้ทุก 6 เดือน ส่วนผู้ชายบริจาคได้ทุก 3 เดือน 

      คุณเป็นผู้หนึ่งที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ มาร่วมบริจาคโลหิตกับโรงพยาบาล
ศิริราชได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่ห้องรับบริจาคเลือด ตึก 72ปี ชั้น 3 นอกจากนี้ยังมีหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ทุกวันจันทร์ ศุกร์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร.02-419 8081 ต่อ 110
      "เลือดท่านเพียงน้อยนิด ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น